จันทร์ - ศุกร์9.00 - 17.30 น.
ที่ตั้งสำนักงาน125/55 ซอยวิภาวดีรังสิต 60 แยก 12 แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ

AI Literacy ตอนที่ 2: การใช้ AI โดยขาด AI Literacy อันตรายมากกว่าที่คิด

 เมื่อ AI กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกภาคส่วนของสังคม การขาด AI Literacy หรือความรู้เท่าทันปัญญาประดิษฐ์ เหมือนกับการขับรถโดยไม่รู้ว่าจะมีพวงมาลัย ไฟเลี้ยว และเบรค อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อผู้ใช้ องค์กร สังคมและประเทศชาติ

การขาด AI Literacy นำไปสู่ความเสียเปรียบของบุคคลในตลาดแรงงาน เนื่องจากทักษะที่เกี่ยวข้องกับ AI กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก ผู้ที่ไม่สามารถทำงานร่วมกับ AI หรือใช้ประโยชน์จาก AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพอาจพบว่าตนเองถูกแทนที่หรือมีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพน้อยลง ขณะเดียวกันการสอนหรือการเรียนรู้แค่การใช้ AI เป็น แต่ไม่ได้มี  AI Literacy จะมีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของข้อมูลเท็จที่สร้างโดย AI หรือการใช้เทคโนโลยีอย่างไม่ปลอดภัย ซึ่งอาจนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวโดยไม่ตั้งใจหรือการตัดสินใจผิดพลาดจากการเชื่อถือข้อมูลจาก AI โดยไม่มีการตรวจสอบ

กรณีองค์กรไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน การขาด AI Literacy ในหมู่พนักงานและผู้บริหารอาจส่งผลให้องค์กรสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ไม่สามารถใช้ประโยชน์จาก AI ในการเพิ่มประสิทธิภาพหรือสร้างนวัตกรรมได้ นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว อาจเกิดการรั่วไหลของข้อมูลหรือการใช้ AI อย่างไม่เหมาะสม ซึ่งนำไปสู่ปัญหาด้านจริยธรรมและกฎหมายได้ การลงทุนในเทคโนโลยี AI โดยไม่เข้าใจวิธีการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพอาจกลายเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า และที่สำคัญ อาจนำไปสู่การตัดสินใจทางธุรกิจที่ผิดพลาดจากการไม่สามารถประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ได้จาก AI ได้อย่างถูกต้อง

สำหรับประเทศ ผลกระทบของการขาด AI Literacy อาจรุนแรงและส่งผลระยะยาว การพัฒนาเศรษฐกิจอาจล่าช้าเนื่องจากไม่สามารถใช้ประโยชน์จาก AI ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและนวัตกรรม เกิดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลระหว่างผู้ที่เข้าใจและใช้ประโยชน์จาก AI ได้กับผู้ที่ไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ ยังอาจเกิดความเสี่ยงด้านความมั่นคงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์หรือการใช้ AI ในทางที่ผิดโดยกลุ่มผู้ไม่หวังดี ประเทศอาจต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศเนื่องจากไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยี AI ของตนเอง และอาจเกิดการออกนโยบายหรือกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของเทคโนโลยี AI

เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนและครอบคลุม แนวทางสำคัญได้แก่ การส่งเสริมการศึกษาด้าน AI และ  AI Literacy โดยบรรจุความรู้เกี่ยวกับ AI และ  AI Literacy ในหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ การสร้างความตระหนักรู้ผ่านการจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับ AI และ  AI Literacy แก่สาธารณชน การพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้มีทักษะด้าน AI การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี AI ภายในประเทศ และการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาในการพัฒนา AI Literacy

ในท้ายที่สุด การพัฒนา AI Literacy ไม่ใช่เพียงการเรียนรู้เทคโนโลยี แต่เป็นการสร้างความเข้าใจในผลกระทบของ AI ต่อตนเอง คนรอบข้าง วิถึชีวิต สังคม และเศรษฐกิจ การลงทุนในการพัฒนา AI Literacy จึงเป็นการลงทุนในอนาคตของประเทศ ช่วยให้ประเทศสามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้อย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันก็สามารถจัดการกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่จะต้องร่วมมือกันในการยกระดับ AI Literacy เพื่อสร้างสังคมที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในยุคปัญญาประดิษฐ์